วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รัฐบาลไทย (คณะรัฐมนตรี)
















นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของประเทศไทย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ว่า ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะขึ้นดำรงตำแหน่งได้ และอาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ ตามแต่รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น บัญญัติให้มีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยเรียกว่า ประธานคณะกรรมการราษฎร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ตำแหน่งดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนเป็น นายกรัฐมนตรี
ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนแรก คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และคนปัจจุบัน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังจากได้รับการเลือกในสภาด้วยคะแนน 235 ต่อ 198 (พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551
ายชื่อรัฐมนตรีของประเทศไทย
1.พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 1
2.พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2
3.จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรีคนที่ 3
4.พันตรี ควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทอภัยวงศ์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 4
5.นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีคนที่ 5
6.หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 6
7.ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) นายกรัฐมนตรีคนที่ 7
8.พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 8
9.นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9
10.จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีคนที่ 10
11.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11
12.นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 12
13.หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13
14.นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14
15.พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 15
16.พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16
17.พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17
18.นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีคนที่ 181
9.พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนที่ 19
20.นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
21.นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21
22.พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีคนที่ 22
23.พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23
24.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24
25.นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ 25
26.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26
27.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คือ กติกาที่ยอมรับเป็นบรรทัดฐาน เพื่อให้การบริหารราชการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ อันได้แก่ ขนบธรรมเนียมการปกครอง รัฐธรรมนูญและความจำเป็นในการบริหารงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.การบริหารราชการส่วนกลาง หมายถึง หน่วยราชการจัดดำเนินการและบริหารโดยราชการของ ส่วนกลางที่มีอำนาจในการบริหารเพื่อสนองความต้องการของประชาชน จะมีลักษณะการปกครองแบบรวมอำนาจ หรือมีความหมายว่า เป็นการรวมอำนาจในการสั่งการ การกำหนดนโยบายการวางแผน การควบคุมตรวจสอบ และการบริหารราชการสำคัญๆ ไว้ที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตามหลักการรวมอำนาจ การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง จัดแบ่งออกได้ดังนี้
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- กระทรวง หรือทบวงที่มีฐานะเทียบเท่า กระทรวง
- ทบวง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
- กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม
2.การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง หน่วยราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งได้แบ่งแยกออกไปดำเนินการจัดทำตามเขตการปกครอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการส่วนกลาง ซึ่งได้รับแต่งตั้งออกไปประจำตามเขตการปกครองต่างๆ ในส่วนภูมิภาคเพื่อบริหารราชการภายใต้การบังคับบัญชาของราชการส่วนกลางโดยมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเพราะถือเป็นเพียงการแบ่งอำนาจการปกครองออกมาจากการบริหารส่วนกลาง การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดแบ่งออกได้ดังนี้
- จังหวัด เป็นหน่วยราชการที่ปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด มีฐานะเป็นนิติบุคคลประกอบขึ้นด้วยอำเภอหลายอำเภอหลาย อำเภอ การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ
- อำเภอ เป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาครองจากจังหวัด แต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนจังหวัด การจัดตั้ง ยุบเลิกและเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ กระทำได้โดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกา มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบการบริหารราชการของอำเภอ
3.การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง กิจกรรมบางอย่างซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ท้องถิ่นจัดทำกันเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะโดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินงานโดยตรงและมีอิสระในการบริหารงาน การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มีดังนี้
1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดที่อยู่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดแยกเป็นส่วนต่างหากจากการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในรูปของจังหวัด ในจังหวัดหนึ่งจะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
2.เทศบาล เป็นองค์การทางการเมืองที่ดำเนินกิจการอันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ การจัดตั้งเทศบาลทำได้โดยการออกพระราชกฤษฎีกายกท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
3.สุขาภิบาล
4.การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ
รัฐบาลได้จัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับความสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเฉพาะแห่ง ปัจจุบันมีการจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ 2 แห่ง คือ
- การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
- การบริหารราชการเมืองพัทยา


ที่มา www.panyathai.or.th

ศาลยุติธรรมไทย

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ประเทศไทยได้ประสบวิกฤตการณ์ทางการศาลทั้งภายในและนอกประเทศ ในด้านต่างประเทศชาวต่างประเทศมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้ไทยเสียเปรียบทางการศาลด้านภายในประเทศเจ้านายและข้าราชการ ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะเกี่ยวกับความยุติธรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้ปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลขึ้น และ ในปี ร.ศ.110 (พ.ศ.2434) รัฐบาลไทยได้ออกประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นประกาศ ลงวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ.110 ต่อมาในปี ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ได้มีประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.127 เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงราชการ กระทรวงยุติธรรม และศาลยุติธรรมให้ดีขึ้นให้มีเสนาบดีเป็นประธาน ในเวลาต่อมาได้มีประกาศการจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมลง วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2455 แยกหน้าที่ ราชการ กระทรวงยุติธรรมเป็นฝ่ายธุรการและ ตุลาการแต่ประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2455 นี้ได้ถูกยกเลิก โดยประกาศการจัดระเบียบบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายธุรการและตุลาการ ที่นอกจากการพิจารณา และพิพากษาคดีในศาลซึ่งเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษา ต่อมาได้มีประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับ พ.ศ.2477 ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบันเปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดีเป็นรัฐมนตีว่าการกระทรวงและมีการจัดระเบียบการแบ่งส่วนราชการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้
มีศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมดังนี้
ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของประเทศมีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา
ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลสูงชั้นกลางมี 4 ศาล ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีเขตอำนาจในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง และภาคตะวันออก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจในเขตพื้นที่ภาคตะวัตออกเฉียงเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคใต้
ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่รับฟ้องในเรื่องชั้นคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ประกอบด้วย ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลแขวงต่าง ๆ กับศาลชั้นต้นในจังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลเยาวชนและครอบครัว

ที่มา www.dtl-law.com


รัฐสภาไทย

รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกัน หรือแยกกัน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง
รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่
28 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา
ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการ
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน
ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่
5 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ
หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
19 กันยายน พ.ศ. 2517 สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา
ประธานรัฐสภาไทย
จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทย มีผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา รวม 28 คน ดังนี้
1.
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
2.
เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
3. พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
4.
เจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
5.
พระยามานวราชเสวี (วิเชียร ณ สงขลา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
6. พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
7. พลเอก พระประจนปัจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
8. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
9.
นายทวี บุณยเกตุ ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
10. พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
11. พลตรีศิริ สิริโยธิน ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
12.
พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
13. นายประภาศน์ อวยชัย ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
14.
นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
15.
นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
16. พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประธานรัฐสภา
17. พลอากาศเอก หะริน หุงสกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
18. นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
19.
ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
20.
ร้อยตำรวจตรี วรรณ ชันซื่อ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
21.
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
22.
ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
23.
นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
24.
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
25.
นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
26.
นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
27.
นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
28.
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
ที่มา www.wikipedia.org.th.mht



ประวัติการ กบฎ ปฏิวัติและการรัฐประหารในประเทศไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็คือว่า การเปลี่ยนรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศมักไม่เป็นไปตามกติกาหรือระเบียบแบบแผนโดยสันติวิธี ตรงกันข้ามมักเกิดการแย่งชิงอำนาจด้วยการใช้กำลังอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของการจลาจลกบฏ ปฏิวัติหรือรัฐประหารความหมายของคำเหล่านี้เหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจทางการเมืองแต่มีความหมายต่าง กันในด้านผลของการใช้กำลังความรุนแรงนั้น หากทำการไม่สำเร็จจะถูกเรียกว่า กบฏ
ถ้าการยึดอำนาจนั้นสัมฤทธิผล และเปลี่ยนเพียงรัฐบาลเรียกว่า รัฐประหาร (coupd etat) แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง ก็นับว่าเป็น การปฏิวัติ
ปฏิวัติ หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ อาจมีหรือไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง เช่นเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือ คอมมิวนิสต์ ฯลฯ
รัฐประหาร หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก ในประเทศไทยถือได้ว่ามีการปฎิวัติ เกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2547 โยคณะราษฎร จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และมีการ กบฏ เกิดขึ้น 12 ครั้ง และรัฐประหาร 8 ครั้ง ดังนี้
ปฎิวัติ 1 ครั้ง (4 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร)
กบฏ 12 ครั้ง
1.กบฎ ร.ศ.130
2.กบฎบวรเดช (11 ตุลาคม 2476)
3.กบฎนายสิบ (3 สิงหาคม 2478)
4.กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือกบฏ 18 ศพ (29 มกราคม 2482)
5.กบฎเสนาธิการ (1 ตุลาคม 2491)
6.กบฏแบ่งแยกดินแดน (พย. 2491)
7.กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์2492)
8.กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน 2494)
9.กบฏสันติภาพ (8 พฤศจิกายน 2497)
10.กบฎ 26 มีนาคม 2520
11.กบฎยังเตอร์ก (1-3 เมษายน 2524)
12.กบฏทหารนอกราชการ (9 กันยายน 2528)
รัฐประหาร 8 ครั้ง
1.พ.อ. พระยาพหลฯ ทำการรัฐประหาร (20 มิ.ย. 2476)
2.พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และคณะนายทหารบก ทำการรัฐประหาร (8 พ.ย. 2490)
3.จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำการรัฐประหาร (29 พ.ย. 2494)
4.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร (16 กันยายน 2500)
5.จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร (20 ตุลาคม 2501)
6. จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร (17 พฤศจิกายน 2514)
7.พล.ร.อ สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหาร (20 ตุลาคม 2520)
8.พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหาร (23 กุมภาพันธ์ 2534)
9.คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำการรัฐประหาร (19 กันยายน 2549)

ที่มา www.mh.ac.th.mht


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
คณะราษฎรเกิดจากการรวมกลุ่มของข้าราชการและนักเรียนไทย 7 คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศและขอให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน หลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก
1.สาเหตุของการปฏิวัติ เกิดจากปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ด้านปัจจัยทางการเมือง การปฏิรูปบ้านเมืองและปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่เรียนรู้รูปแบบการเมืองการปกครองของชาติตะวันตก ทำให้เห็นว่าการปกครองโดยคนๆ เดียวหรือสถาบันเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทั้งหมด นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่พอใจที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผูกขาดอำนาจการปกครองและการบริหารราชการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มต้องการให้มีการปกครองระบอบสาธารณรัฐ
ด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการดุลข้าราชการออกจำนวนมากเพื่อตัดลดงบประมาณ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรใช้โจมตีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
2.เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว
ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

ที่มา www.trueplookpanya.com

เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มนายทหารบกชั้นผู้น้อยทำการปฏิวัติการปกครอง แต่ไม่สำเร็จ จึงได้รับสมญานามว่า กบฎ ร.ศ.130
กบฏ ร.ศ.130
กบฏ ร.ศ.130 เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 24 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ.130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ มีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต แต่ท้ายที่สุดได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ด้วยทรงเห็นว่าผู้ก่อการมิได้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์
คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ
1.ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้า
2.ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ จาก กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
3.ร.ต.จรูญ ษตะเมษ จากกองปืนกล รักษาพระองค์
4.ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
5.ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
6.ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร จาก โรงเรียนนายสิบ
7.ร.ต.เขียน อุทัยกุล จาก โรงเรียนนายสิบ
คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่
ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์
ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจาก
1) เนื่องจากพวกจักรวรรดินิยม กดขี่ข่มเหงประเทศต่างๆ ในเอเชีย และได้แลเห็นประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้น มีความเจริญในด้านต่างๆ จนสามารถปราบปรามประเทศต่างๆในเอเชีย และเรียนรู้การปกครองของประเทศจักรวรรดินิยมเขาทำกันอย่างไร จึงมีความปรารถนาจะให้ประเทศของตนเป็นไปอย่างยุโรปบ้าง
2) พวกคณะปฎิวัติได้เห็นประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้า ภายหลังที่ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย จนสามรถรบชนะจีนและรัสเซีย จึงต้องการให้ประเทศสยามมีความก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง
3) เมื่อเห็น ดร.ซุนยัดเซน โค่นบัลลังก์แมนจู เป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 ต้องการให้ประเทศสยามเป็นเช่นนั้นบ้าง
4) คณะปฎิวัติเล็งเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ่อนแอเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่14 ไม่สนพระทัยในกิจการบ้านเมือง จึงคิดจะปฎิวัติ เพื่อปรับปรุงประเทศอย่างตะวันตก
5) ทหารถูกเหยียดหยาม
6) ความเป็นไปในราชสำนักฟุ่มเฟือย ไร้สารัตถะ
7) ความสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินไปโดยไร้ประโยชน์ และมีเหตุอันไม่บังควร
8) มีการแบ่งชั้นวรรณะ ระหว่างผู้ที่เรียกตนเองว่าเจ้า กับไพร่
9) ขุนนางผู้ใหญ่ มีความเสื่อมทรามเหลวแหลก
10) ข้าราชการทำงานเอาตัวรอดไปวันๆ โดยไม่คิดถึงประเทศชาติและบ้านเมือง
11) ราษฎรไม่ได้รับการบำรุงส่งเสริมอย่างจริงจัง
12) ชาวไร่ ชาวนา ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือให้ดีขึ้นตามสมควร
13) ทุพภิกขภัย ความอดอยากหิวโหย แผ่ซ่านไปในหมู่กสิกร เมื่อดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก
14) ทั้งที่เกิดความอดอยากยากจนอยู่ทั่วประเทศ แต่ทางราชการกลับเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนอย่างสาหัส
15) ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ ประชาชนพลเมือง
16) กดการศึกษาของพลเมือง เพื่อมิให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เทียบเท่าชนชั้นผู้ปกครอง
17) ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองขาดการทำนุบำรุง

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5

มูลเหตุการปรับปรุงการปกครองปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่
1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้ค่านิยมของตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย
2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสยามประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่จะควบคุมดูแลการจัดเก็บรักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ได้
3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม
4. ปัญหาการมีทาสก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่าเถื่อนล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนาในแง่เศรษฐกิจระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ
5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน
6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฎหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับคนในชาติ และชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไป เกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรมระบบการรับสินบนฝังรากลึกมาแต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครองและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุนนางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามีความป่าเถื่อน ล้าหลัง
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง
ารปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็นกระทรวงต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางซึ่งมีมาแต่เดิมนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มหาดไทย กลาโหม เมือง วัง คลัง นา อันได้ใช้เป็นระเบียบปกครองประเทศไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เหตุแห่งการปฏิรูปการปกครอง และระเบียบราชการส่วนกลางในรัชการนี้ ก็เนื่องจากองค์การแห่งการบริการส่วนกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติราชการให้ได้ผลดีและความเจริญของประเทศและจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่องค์การแห่งราชการบริหารส่วนกลางยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นโดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ขึ้นโดยได้จัดสรรให้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ดังนี้ คือ
1. กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช (ในช่วงแรก) แต่ต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดที่มีให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
2. กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช เมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงกลาโหมจึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต
3. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ
4. กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง
5. กระทรวงเมือง (นครบาล) การโปลิศและการบัญชีคน คือ กรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ
6. กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่
7. กระทรวงพระคลัง ดูแลเรื่องเงิน รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน
8. กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งเคยกระจายอยู่ตามกรมต่างๆ นำมาไว้ที่แห่งเดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน
9. กระทรวงยุทธนาธิการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ
10. กระทรวงธรรมการ จัดการเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และอุปถัมภ์คณะสงฆ์
11. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่าง การไปรษณีย์โทรเลขการรถไฟ
12. กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง
เมื่อได้ประกาศปรับปรุงกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยจึงได้ประกาศตั้งเสนาบดีและให้เลิกอัครเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม กับตำแหน่งจตุสดมภ์ให้เสนาบดีทุกตำแหน่งเสมอกันและรวมกันเป็นที่ประชุมเสนาบดีสภา หรือเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา ต่อจากนั้นได้ยุบรวมกระทรวง และปรับปรุงใหม่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงต่างๆ ยังคงมีเหลืออยู่ 10 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงธรรมการ
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ด้วยเหตุที่มีการรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ใน 3 กรม คือ มหาดไทยกลาโหมและกรมท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว การปฏิรูปหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคจึงมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลางโดยส่วนรวมทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองแบบเมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชเดิม เพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนแปลงแบบราชอาณาจักรโดยการจัดระเบียบการปกครองให้มีลักษณะลดหลั่นตามระดับสายการบังคับบัญชาหน่วยเหนือลงไปจนถึงหน่วยงานชั้นรอง ตามลำดับดังนี้
1.การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล โดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑลตามสภาพภูมิประเทศและความสะดวกแก่การปกครอง มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามรถสูงและเป็นที่วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้ไปบริหารราชการต่างพระเนตรพระกรรณ
2.การจัดรูปการปกครองเมือง มีการปกครองใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดหน่วยบริหารที่ชื่อว่า "เมือง" ใหม่โดยให้รวมท้องที่หลายอำเภอเป็นหัวเมืองหนึ่งและกำหนดให้มีพนักงานปกครองเมืองแต่ละเมือง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาเมือง และมีคณะกรรมการเมือง 2 คณะ คือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบเป็นผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงเลือกสรร และโยกย้ายผู้ว่าราชการเมือง
3. การจัดการปกครองอำเภอ อำเภอเป็นหน่วยบริหารราชการระดับถัดจากเมืองเป็นหน่วยปฏิบัติราชการหน่วยสุดท้ายของรัฐที่จะเป็นผู้บริการราชการในท้องที่ และให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง เป็นหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมท้องที่หลายตำบลเข้าด้วยกัน มีกรมการอำเภอซึ่งประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอร่วมกันรับผิดชอบในราชการของอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอ เป็นอำนาจของข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไปซึ่งได้แก่ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และเสมียน พนักงาน ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหากท้องที่อำเภอใดกว้างขวางยากแก่การที่กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ทั่วถึงได้และท้องที่นั้นยังมีผู้คนไม่มากพอที่จะยกฐานะเป็นอำเภอหรือกรณีที่ท้องที่ของอำเภอมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอก็ให้แบ่งท้องที่ออกเป็น กิ่งอำเภอเพื่อให้มีพนักงานปกครองดูแลได้แต่กิ่งอำเภอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอและอยู่ในกำกับดูแลของกรรมการอำเภอ
4. การจัดรูปการปกครองตำบลหมู่บ้าน อำเภอแต่ละอำเภอมีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นหลายตำบลและตำบลก็ยังซอยพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดการปกครองระดับนี้มุ่งหมายที่จะให้ราษฎรในพื้นที่ เลือกสรรบุคคลขึ้นทำหน้าที่เป็นธุระในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเป็นทั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน คือเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลืออำเภอ และเป็นตัวแทนของรัฐสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร์ ตลอดจนช่วยเก็บภาษีอากรบางอย่างให้รัฐ
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นจากต่างประเทศมาดำเนินการโดยริเริ่มทดลองให้มีการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯและการสุขาภิบาลหัวเมือง รายละเอียดดังนี้
1. การจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้จัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาล ขึ้นในกรุงเทพ อันเป็นอิทธิพลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสไปดู กิจการต่างๆในยุโรป และเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์) ติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกที่รักษาราชการทั่วไปของประเทศในขณะนั้นได้กราบทูลกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวต่างประเทศ มักติเตียนว่ากรุงเทพฯ สกปรกไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะเป็นเมืองหลวงพระองค์ จึงโปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นโดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 ออกใช้บังคับการจัดการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล การบริหารกิจการในท้องที่ของสุขาภิบาลพระราชกำหนดได้กำหนดให้มีการประชุมปรึกษากันเป็นคราวๆ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่ในด้านการอนามัยและการศึกษาขั้นต้นของราษฎร ได้ แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ชนิด คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล โดยสุขาภิบาลแต่ละชนิดมีหน้าที่
1.รักษาความสะอาดในท้องที่
2. การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่
3. การบำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่
4. การศึกษาขึ้นต้นของราษฎร
พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้ใช้อยู่จนกระทั่งหมดสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศและสุขาภิบาลเริ่มประสบปัญหาต่างๆ จึงทำให้การทำงานของสุขาภิบาลหยุดชะงักและเฉื่อยลงตามลำดับ จวบจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรมุ่งหวังที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงตราพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เพื่อส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอย่างกว้างขวาง

ที่มา http://nucha.chs.ac.th

ประวัติการปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงยึดถือตามแบบอย่างการปกครองสมัยอยุธยา คือเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงมีอำนาจสูงสุดและได้รับการเคารพจากราษฎรประดุจสมมุติเทพ การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านการปกครอง การศาล และกฎหมาย
กฎหมายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. การปกครองส่วนกลาง มีหน่วยงานสำคัญ คือ
1.1 อัครมหาเสนาบดี มี 2 ตำแหน่ง คือ
- สมุหกลาโหม มีเจ้าพระยามหาเสนาเป็นผู้บังคับบัญชา ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งทำหน้าที่ ควบคุมดูแลกิจการทหาร และหัวเมืองปักษ์ใต้ 20 หัวเมือง
- สมุหนายก ว่าการมหาดไทย ทำหน้าที่ในการปกครองดูแล ราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไป และยังทำหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงด้วย
1.2 เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นตำแหน่งรองจากอัครมหาเสนาบดีมี 4 ตำแหน่ง ได้แก่
- เสนาบดีกรมเมือง (นครบาล) ใช้ตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน
- เสนาบดีกรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) ใช้ตราเทพยาดาทรงพระโคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานพระราชพิธีต่างๆ พิจารณาคดีที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้วินิจฉัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ธรรมาธิกรณ์"
- เสนาบดีกรมพระคลัง (โกษาธิบดี) ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของแผ่นดิน ติดต่อกับชาวต่างประเทศที่มาติดต่อค้าขาย ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "กรมท่า"
- เสนาบดีกรมนา (เกษตราธิการ) ใช้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ตรวจตราดูแลการทำไร่นา เก็บภาษีนา ซึ่งเรียกว่าหางข้าว ขึ้นฉางหลวง เพื่อเป็นเสบียงอาหารสำรองไว้ใช้ในยามเกิดสงคราม
2. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
2.1 หัวเมืองชั้นใน ได้แก่หัวเมืองชั้นจัตวาที่รายรอบพระนคร มีผู้รั้งเป็นผู้ปกครอง เดิมเรียกว่า
เมืองลูกหลวง หรือเมืองหน้าด่าน
2.2 หัวเมืองชั้นนอก คือหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ที่อยู่ห่างไกลพระนคร มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ทุกประการ หัวเมืองเหล่านี้อาจจะมีเมืองขึ้นอยู่ในครอบครองด้วย
2.3 การปกครองประเทศราช ดำเนินตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา คือให้อิสระในการปกครอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นผู้กำหนด หัวเมืองประเทศราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สำคัญ คือ ลานนา ไทย ลาว เขมร และหัวเมืองมลายู
3. การปกครองท้องที่ ท้องที่ที่เล็กที่สุดคือหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครอง หลายหมู่บ้านรวมกันเป็นตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง หลายตำบลรวมกันเป็นแขวง มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง และหลายแขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง
การปรับปรุงด้านการศาลและกฎหมาย
กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ชำระขึ้นในปี พ.ศ.2347 นั้น เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ที่เรียกเช่นนั้นเพระเมื่อรวบรวมและชำระเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์คัดลอกไว้เป็น 3 ฉบับ ทุกฉบับประทับตราคชสีห์ ตราราชสีห์ และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหกลาโหม สมุหนายก และพระยาพระคลัง ซึ่งเป็นเสนาบดีที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร กล่าวคือสมุหกลาโหมปกครองดูแลหัวเมืองภาคใต้ สมุหนายกปกครองดูแลหัวเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสาน พระยาพระคลัง ปกครองดูแลหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก
ส่วนระบบการศาลของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ กระจายอยู่ตามกรมต่างๆ จำนวนมากมายทั้งเมืองหลวงและหัวเมือง ศาลจึงมีจำนวนมากมาย เช่นศาลหลวง ศาลอาญา ศาลนครบาล ศาลกรมวัง ศาลกรมนา ฯลฯ เมื่อเกิดคดีฟ้องร้องในเรื่องที่เกี่ยวกับกรมใด ก็ให้ศาลกรมนั้นพิจารณาตัดสินคดี ส่วนการลงโทษคงใช้ระบบจารีตนครบาล ได้แก่การเฆี่ยน ตอกเล็บ บีบขมับ การพิสูจน์คดียังคงใช้วิธีการดำน้ำพิสูจน์ ลุยไฟพิสูจน์ และถ้าไม่พอใจคำตัดสินสามารถฎีกาได้โดยไปตีกลองวินิจฉัยเภรี ซึ่งผู้ร้องทุกข์ต้องถูกเฆี่ยน 30 ที เพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องที่ฎีกานี้เป็นจริง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯให้เลิกประเพณีเฆี่ยนแล้วให้ร้องทุกข์โดยตรงต่อพระองค์เอง
จารีตนครบาล
ราษฎรที่ถูกทางราชการฟ้องว่ากระทำความผิดต่อพระเจ้าแผ่นดิน หรือต่อบ้านเมืองมักไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะกฎหมายถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาเสียแล้ว ตรงกันข้ามกับหลักฐาน กฎหมายไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งถือว่าทุกคนที่มาศาลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด เมื่อถือแต่ชั้นแรกว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ผิด ทางการจึงมีความประสงค์ให้จำเลยรับสารภาพแต่โดยดี ถ้าจำเลยไม่สารภาพ ก็ยอมให้ศาลนครบาล หรือศาลอื่นที่มีอำนาจพิจารณาคดีใช้จารีตนครบาลได้ จารีตนครบาล คือการลงทัณฑ์เพื่อผดุงความยุติธรรม ในระหว่างการพิจารณาของตระลาการ ตระลาการมีอำนาจลงทัณฑ์เฆี่ยน ตี ตอกเล็บ บีบขมับ หรือทรมานจำเลยด้วยวิธีต่าง ๆ จนกว่าจำเลยจะรับสารภาพ ถ้าตระลาการเชื่อว่าจำเลยยังสารภาพไม่หมดเปลือก หรือเชื่อว่าจำเลยไม่ยอมซัดทอดผู้ร่วมกระทำผิด ก็มีอำนาจที่จะลงโทษลงทัณฑ์จำเลยต่อไปอีก แม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพว่าตนเป็นผู้กระทำผิดแล้ว จารีตนครบาลมีทั้งผลดีและผลเสีย ที่ว่าเป็นผลดี เพราะผู้ร้ายมักจะยอมสารภาพความผิดและซัดทอดพรรคพวกที่ร่วมกระทำผิด และทำให้ราษฎรกลัวเกรงกฎหมายของบ้านเมือง ผิดกับกฎหมายสมัยปัจจุบันที่ยอมให้ผู้ร้ายปฏิเสธความผิดได้อย่างลอยนวล ผู้ร้ายจะโกหกศาลหรือไม่ให้การต่อศาลก็ได้ ไม่มีโทษภัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น ข้อนี้เป็นเหตุให้ผู้ร้ายได้ใจ ไม่กลัวการขึ้นศาลเหมือนแต่ก่อน แต่จารีตนครบาลมีผลเสียในข้อที่อาจพลาดได้ จำเลยบางคนอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ทนการทรมานไม่ได้ ก็ต้องสารภาพ เลยถูกจำคุกจนตายหรือถูกประหารชีวิตไปก็มี นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้พวกเจ้าหน้าที่ศาล ทำการทุจริตรีดไถจำเลยอีกด้วย

ที่มา http://chiraporn.igetweb.com

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยธนบุรี

สมัยธนบุรีมีพระมหากษัตริย์เพียงพระองเดียวคือ พระเจ้าตากสินมหาราช
พระเจ้าตากสินมหาราช (ครองราชย์ระหว่าง 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 - 6 เมษายน พ.ศ.2325)
ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ.2310 นั้นพม่าได้ยกทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2308 พระยาตากซึ่งเป็นเจ้าเมืองตากอยู่ถูกเรียกเข้ามาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ในเดือนมกราคม พ.ศ.2310 พระยาตากได้นำทหารราว 1,000 คน แต่พม่าหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปรวบรวมผู้คนไว้สู้พม่าที่เมืองจันทบูรณ์ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็ถูกพม่าตีแตกเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 พระยาตากได้รวบรวมผู้คนอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นก็ยกทัพกลับมาตีทัพพม่าที่ตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิสามต้นอยุธยา และตีค่ายพม่าแตกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 พม่าถูกฆ่าตายเป็นอันมากที่รอดตายก็แตกพ่ายหนีกลับพม่าไป พระยาตากจึงได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของประเทศในขณะนั้น เพราะพระเจ้าเอกทัศน์สิ้นพระชนม์แล้ว ส่วนพระเจ้าอุทุมพร อนุชาก็ถูพม่าจับตัวไป
เมื่อเอาชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว ก็ได้เลือกกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่แต่ในช่วงปี พ.ศ.2311 - 2313 นั้น พระเจ้าตากก็ต้องใช้เวลาปราบชุมนุมคนไทยอีก 4 กลุ่ม ซึ่งซ่องสุมผู้คนตั้งตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดินคือ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช โดยปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมสุดท้ายในปี พ.ศ.2313 พระเจ้าตากเป็นคนดีมีฝีมือของกรุงศรีอยุธยาคนหนึ่ง สมดังคำพังเพยที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” สู้กับพม่าแล้วก็ต้องมาสู้กับคนไทยเอง (คือผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่อีก 4 ชุมนุมต้องบูรณะบ้านเมืองที่เสียหาย ราษฎรยากจนโจรผู้ร้ายชุกชุมและยังต้องคอยสู้รบกับพม่าที่ยกทัพมาตีเมืองไทยอีกหลายครั้ง นอกจากเป็นฝ่ายรับในการรบแล้ว พระเจ้าตากยังส่งทัพไปรบยังที่อื่นๆ อีกเพื่อผลประโยชน์ของไทยเป็นการยกทัพไปรบที่เชียงใหม่ (พ.ศ.2317 และ 2319) ที่จัมปาศักดิ์ (พ.ศ.2321) และที่เขมร (พ.ศ.2312 และ 2323)
ในปี พ.ศ. 2325 ไทยยกทัพไปรบที่เขมร แม่ทัพคือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขณะที่ทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรบอยู่ที่เขมรนั้น ทางกรุงธนบุรีเกิดการจลาจล ขุนนางชื่อพระยาสรรค์ได้ก่อกบฎจับพระเจ้าตากไว้แล้วให้ทรงผนวชเสีย เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรู้เรื่องการจลาจลก็ยกทัพกลับ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ตอนปลายรัชกาลของพระเจ้าตากสินพระองค์สติฟั่นเฟือนและลงพระอาญาแก่คนจำนวนมาก รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่โดยไม่ชอบด้วยเหตุผล ขุนนางทั้งหลายจึงอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองแผ่นดินและในการครั้งนี้ได้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินด้วย (พระชนม์ได้ 48 พรรษา) นอกจากพระเจ้าตากแล้วก็มีเชื้อพระวงศ์ที่ถูกสำเร็จโทษด้วยคือ โอรสพระเจ้าตาก คือ กรมขุนอินทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ขณะถูกประหารพระชันษา 21 พรรษา และพระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศร์ นอกจากนั้นก็มีขุนนางอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์รับราชการเป็น “ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย” ถูกประหารชีวิตอีกจำนวนหนึ่งรวมทั้งพระยาพิชัยที่รู้จักกันในนามพระยาพิชัยดาบหัก
ลักษณะการปกครองสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี
เนื่องจากสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี เป็นช่วงที่ประเทศไทยได้เสียกรุงให้กับพม่าครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ประเทศชาติแตกแยกกันเป็นก๊ก เป็นเหล่ายังรวมกันไม่ติด และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำนุบำรุงให้คงสภาพเดิมได้อีกทั้งข้าศึกศัตรูก็รู้ลู่ทางดีและเมื่อถึงคราวน้ำหลาก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมามาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงย้ายมาตั้งเมืองหลวงที่กรุงธนบุรีและตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ท่านทรงต้องทำศึกสงครามเพื่อรวบรวมประเทศไทยให้เป็นปึกแผ่นและทำการกอบกู้เอกราชมาโดยตลอด ดังนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี พระองค์จึงไม่ได้ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างไร ดังนั้นในสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรีนั้น เราอาจกล่าวได้ว่ายังคงใช้รูปแบบการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ นั่นคือพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทั้งหมดเพียงพระองค์เดียว ได้แก่ การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ หรืออาจกล่าวง่ายๆ คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวเพื่อทรงรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นให้คงความเป็นไทยอยู่จนทุกวันนี้

ที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=279484




วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธฺราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรงมอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครองดูแลเมือง ลูกหลวง หลานหลวง ต่างพระเนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชมีเจ้านายใน ราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองราชธานีศรีอยุธยา
ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยา การจัดระเบียบการปกครองแบ่งออกเป็น ๓ สมัย
๑. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๙๑)
๒. สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๒๓๑)
๓. สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐)
สมัยอยุธยาตอนต้น หรือสมัยการวางรากฐานการปกครอง แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ส่วน
๑.การปกครองแบบจตุสดมภ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ปรับปรุงระบอบการปกครองในส่วนกลางเสียใหม่เป็นแบบจตุสดมภ์ตามแบบอย่างของขอม โดยมีกษัตริย์เป็นผู้อำนวยการปกครอง การปกครองประกอบด้วยเสนาบดี ๔ คนคือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง ขุนนา พร้อมทั้งได้ตรากฎหมายลักษณะอาญาหลวงและ กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร เพื่อเป็นบรรทัดฐานในด้านยุติธรรม การบังคับบัญชา ในส่วนกลางแบ่งออกเป็น
- ขุนเวียง ทำหน้าที่บังคับกองตระเวนซ้าย ขวา และขุนแขวง อำเภอ กำนัน ในกรุงบังคับศาลพิจารณาความฉกรรจ์มหันตโทษ ซึ่งแบ่งเป็นแผนกว่าความนครบาล และคุมไพร่หลวงมหันตโทษ ทำหน้าที่ตะพุ่นหญ้าช้าง

- ขุนวัง ทำหน้าที่รักษาพระราชมนเฑียร และพระราชวังชั้นนอกชั้นในเป็น พนักงานจัดการพระราชพิธีทั้งปวงทั่วไป และบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายหน้า บรรดาข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในและข้าราชการฝ่ายในทั่วไป มีอำนาจที่จะตั้งศาลชำระความซึ่งเกี่ยวข้องได้ ราชการในกรมวังนี้มีความละเอียดกว่า ราชการในกรมเมืองต้องรู้วิธีปฏิบัติราชการ มีความจดจำดีมีความขยันหมั่นเพียรและ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ
- ขุนคลัง ทำหน้าที่ในการบังคับบัญชาในเรื่องเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งจะเข้าในพระคลังและที่จะจ่ายราชการบังคับจัดการภาษีอากรขนอนตลาดทั้งปวงและบังคับศาล ซึ่งชำระความเกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์ของหลวงทั้งปวง
- ขุนนา มีหน้าที่ดูแลรักษานาหลวงเก็บค่าเช่าจากราษฎร เป็นพนักงานจัดซื้อข้าว ขึ้นฉางหลวง เป็นพนักงานทำนาตัวอย่าง ชักจูงราษฎรให้ลงมือทำนาด้วยตนเองเป็นผู้ทำนุบำรุงชาวนาทั้งปวงไม่ให้เสียเวลาทำนา นอกจากนั้นยังมีอำนาจที่จะตั้งศาลพิพากษา ความที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องนาและโคกระบือ
๒.การปกครองส่วนภูมิภาคหรือส่วนหัวเมือง
- เมืองลูกหลวง หรือ เมืองหน้าด่าน อยู่รอบราชธานี ๔ ทิศ ห่างจากราชธานีใช้เวลาเดินทาง ๒ วัน พระมหากษัตริย์แต่งตั้งพระราชโอรสหรือเจ้านายชั้นสูงไปปกครอง
- หัวเมืองชั้นใน คือเมืองที่อยู่รายรอบพระนคร ได้แก่ ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ มีขุนนางจากเมืองหลวงไปปกครอง
- หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เมืองขนาดใหญ่อยู่ห่างไกลจากราชธานี
- เมืองประเทศราช ให้เจ้าต่างชาติต่างภาษาปกครองกันเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด ๓ ปีต่อครั้ง
สมัยอยุธยาตอนกลาง หรือสมัยการปรับปรุงการปกครอง เริ่มในสมัยพระบรมโตรโลกนาถ การปรับปรุงการปกครอง ยึดหลักการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แบ่งส่วนราชการออกเป็น
๑. การปกครองในส่วนกลางหรือส่วนราชธานี แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ฝ่าย
๑.๑ ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้า ดูแลทหารทั่วราชอาณาจักร
๑.๒ ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และรับผิดชอบจตุสดมภ์ ๔ และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ คือ เวียง เป็น นครบาล วัง เป็น ธรรมาธิกรณ์ นา เป็น เกษตราธิราช คลัง เป็น โกษาธิบดี
๒. การปกครองส่วนภูมิภาค โปรดให้ยกเลิกเมืองลูกหลวง จัดการปกครองออกเป็น
๒.๑ หัวเมืองชั้นใน เปลี่ยนเป็นหัวเมืองจัตวา มีผู้ปกครองคือผู้รั้ง
๒.๒ หัวเมืองชั้นนอก เปลี่ยนหัวเมืองชั้น เอก โท ตรี ตามลำดับความสำคัญ และขนาดของเมือง
๒.๓ เมืองประเทศราช ให้เจ้าต่างชาติต่างภาษาปกครองกันเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาตามกำหนด
สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยถ่วงดุลอำนาจเริ่มในสมัยพระเพทราชา สมัยนี้ยึดแบบอย่างการปกครองแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรับปรุง แต่ได้แบ่งแยกอำนาจสมุหกลาโหมและสมุหนายกเสียใหม่ คือ
สมุหกลาโหม - ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดทั้งที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน
สมุหนายก - ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน
รูปแบบการปกครองของอยุธยา ใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองเสียใหม่

ที่มา
http://www.vcharkarn.com

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยสุโขทัย

ในสมัยสุโขทัย การปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากอำนาจสูงสุดในการปกครองรวมอยู่ที่พ่อขุนพระองค์เดียว โดยพ่อขุนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ในสมัยสุโขทัยได้มีการจำลองลักษณะครอบครัวมาใช้ในการปกครอง ทำให้ลักษณะการใช้อำนาจของพ่อขุนเกือบทุกพระองค์ เป็นการใช้อำนาจแบบให้ความเมตตาและให้เสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร
ลักษณะทางการเมืองการปกครองในสมัยสุโขทัย พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงเป็นประมุขและทรงปกครองประชาชนในลักษณะ “บิดาปกครองบุตร” คือ ถือว่าพระองค์เป็นพ่อที่ให้สิทธิและเสรีภาพและมีความใกล้ชิดกับประชาชน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยและส่งเสริมความสุขให้ประชาชน ประชาชนในฐานะที่เป็นบุตรมีหน้าที่ให้ความเคารพและเชื่อฟังพ่อขุน พ่อขุนกับประชาชนในรูปแบบของการปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน กล่าวคือ ประชาชนมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุน เช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าประชาชนต้องการถวายฎีกาก็จะไปสั่นกระดิ่ง พระองค์ก็จะเสด็จออกมาทรงชำระความให้ ในการปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์
ลักษณะการปกครองสมัยสุโขทัย แบ่งออกเป็น 2ช่วง คือ การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น และการปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย ดังต่อไปนี้
1.การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น เมื่อขอมปกครองสุโขทัยใช้ระบบการปกครองแบบนายปกครองบ่าว เมื่อสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นใหม่ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงจัดการปกครองใหม่เป็นแบบ บิดาปกครองบุตร หรือ พ่อปกครองลูก หรือ ปิตุลาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ
1. รูปแบบราชาธิปไตย หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุด ทรงใช้อำนาจสูงสุดที่เรียกว่า อำนาจอธิปไตย
2. รูปแบบบิดาปกครองบุตร หมายถึง พระมหากษัตริย์ ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนมาก จึงเปรียบเสมือนเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือ พ่อ จึงมักมีคำนำหน้าพระนามว่า พ่อขุน
3. ลักษณะลดหลั่นกันลงมาเป็นขั้นๆ เริ่มจากหลายครอบครัวรวมกันเป็นบ้าน มี พ่อบ้าน เป็นผู้ปกครอง หลายบ้านรวมกันเป็นเมือง มี พ่อเมือง เป็นผู้ปกครอง หลายเมืองรวมกันเป็นประเทศ มี พ่อขุน เป็นผู้ปกครอง
4. การยึดหลักธรรมในพุทธศาสนาในการบริหารบ้านเมือง
2.การปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย การปกครองแบบบิดาปกครองบุตรเริ่มเสื่อมลง เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มั่นคง เกิดความรำส่ำระสาย เมืองต่างๆ แยกตัวเป็นอิสระ พระมหาธรรมราชาที่ 1 จึงทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติธรรมเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลื่อมใสศรัทธาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา สร้างความสามัคคีในบ้านเมือง ลักษณะการปกครองสุโขทัยตอนปลายจึงเป็นแบบ ธรรมราชา ดังนั้นจึงนับได้ว่าพระองค์ธรรมราชาพระองค์แรก และพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชาทุกพระองค์
การปกครองเมืองต่างๆ ในสมัยสุโขทัยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.การปกครองส่วนกลาง ส่วนกลาง ได้แก่ เมืองหลวงและเมืองลูกหลวง
เมืองหลวง คือ สุโขทัย อยู่ในความปกครองของพระมหากษัตริย์โดยตรง
เมืองลูกหลวง เป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงทั้ง 4 ทิศ เมืองเหล่านี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสไปปกครอง ซึ่งได้แก่
(1) ทิศเหนือ เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก)
(2) ทิศตะวันออก เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
(3) ทิศใต้ เมืองสระหลวง (พิจิตร)
(4) ทิศตะวันตก เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว)ในสมัยสุโขทัยเรียกเมืองหลวงและเมืองลูกหลวงรวมกันว่า ราชธานี
2.การปกครองหัวเมืองหัวเมือง หมายถึง เมืองที่อยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
2.1 หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นนอกเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงสุโขทัย หรืออยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง
2.2 หัวเมืองประเทศราช หัวเมืองประเทศราชเป็นเมืองภายนอกพระราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้มีกษัตริย์ของตนเองปกครอง แต่ยอมรับในอำนาจของกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยเป็นเพียงเจ้าคุ้มครอง โดยหัวเมืองเหล่านี้จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และส่งทหารมาช่วยรบเมื่อทางกรุงสุโขทัยมีคำสั่งไปร้องขอ
อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจ โดยบรรดาหัวเมืองประเทศราชต่างๆ เริ่มแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองเผ่าไทยทางใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ได้แผ่อำนาจเข้ามามีอิทธิพลเหนือกรุงสุโขทัย ในที่สุด อาณาจักรไทยยุคสุโขทัยก็ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา


แบบทดสอบหลังเรียน http://quickr.me/xE8fAYS