วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยสุโขทัย

ในสมัยสุโขทัย การปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากอำนาจสูงสุดในการปกครองรวมอยู่ที่พ่อขุนพระองค์เดียว โดยพ่อขุนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ในสมัยสุโขทัยได้มีการจำลองลักษณะครอบครัวมาใช้ในการปกครอง ทำให้ลักษณะการใช้อำนาจของพ่อขุนเกือบทุกพระองค์ เป็นการใช้อำนาจแบบให้ความเมตตาและให้เสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร
ลักษณะทางการเมืองการปกครองในสมัยสุโขทัย พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงเป็นประมุขและทรงปกครองประชาชนในลักษณะ “บิดาปกครองบุตร” คือ ถือว่าพระองค์เป็นพ่อที่ให้สิทธิและเสรีภาพและมีความใกล้ชิดกับประชาชน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยและส่งเสริมความสุขให้ประชาชน ประชาชนในฐานะที่เป็นบุตรมีหน้าที่ให้ความเคารพและเชื่อฟังพ่อขุน พ่อขุนกับประชาชนในรูปแบบของการปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน กล่าวคือ ประชาชนมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุน เช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าประชาชนต้องการถวายฎีกาก็จะไปสั่นกระดิ่ง พระองค์ก็จะเสด็จออกมาทรงชำระความให้ ในการปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์
ลักษณะการปกครองสมัยสุโขทัย แบ่งออกเป็น 2ช่วง คือ การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น และการปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย ดังต่อไปนี้
1.การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น เมื่อขอมปกครองสุโขทัยใช้ระบบการปกครองแบบนายปกครองบ่าว เมื่อสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นใหม่ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงจัดการปกครองใหม่เป็นแบบ บิดาปกครองบุตร หรือ พ่อปกครองลูก หรือ ปิตุลาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ
1. รูปแบบราชาธิปไตย หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุด ทรงใช้อำนาจสูงสุดที่เรียกว่า อำนาจอธิปไตย
2. รูปแบบบิดาปกครองบุตร หมายถึง พระมหากษัตริย์ ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนมาก จึงเปรียบเสมือนเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือ พ่อ จึงมักมีคำนำหน้าพระนามว่า พ่อขุน
3. ลักษณะลดหลั่นกันลงมาเป็นขั้นๆ เริ่มจากหลายครอบครัวรวมกันเป็นบ้าน มี พ่อบ้าน เป็นผู้ปกครอง หลายบ้านรวมกันเป็นเมือง มี พ่อเมือง เป็นผู้ปกครอง หลายเมืองรวมกันเป็นประเทศ มี พ่อขุน เป็นผู้ปกครอง
4. การยึดหลักธรรมในพุทธศาสนาในการบริหารบ้านเมือง
2.การปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย การปกครองแบบบิดาปกครองบุตรเริ่มเสื่อมลง เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มั่นคง เกิดความรำส่ำระสาย เมืองต่างๆ แยกตัวเป็นอิสระ พระมหาธรรมราชาที่ 1 จึงทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติธรรมเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลื่อมใสศรัทธาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา สร้างความสามัคคีในบ้านเมือง ลักษณะการปกครองสุโขทัยตอนปลายจึงเป็นแบบ ธรรมราชา ดังนั้นจึงนับได้ว่าพระองค์ธรรมราชาพระองค์แรก และพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชาทุกพระองค์
การปกครองเมืองต่างๆ ในสมัยสุโขทัยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.การปกครองส่วนกลาง ส่วนกลาง ได้แก่ เมืองหลวงและเมืองลูกหลวง
เมืองหลวง คือ สุโขทัย อยู่ในความปกครองของพระมหากษัตริย์โดยตรง
เมืองลูกหลวง เป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงทั้ง 4 ทิศ เมืองเหล่านี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสไปปกครอง ซึ่งได้แก่
(1) ทิศเหนือ เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก)
(2) ทิศตะวันออก เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
(3) ทิศใต้ เมืองสระหลวง (พิจิตร)
(4) ทิศตะวันตก เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว)ในสมัยสุโขทัยเรียกเมืองหลวงและเมืองลูกหลวงรวมกันว่า ราชธานี
2.การปกครองหัวเมืองหัวเมือง หมายถึง เมืองที่อยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
2.1 หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นนอกเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงสุโขทัย หรืออยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง
2.2 หัวเมืองประเทศราช หัวเมืองประเทศราชเป็นเมืองภายนอกพระราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้มีกษัตริย์ของตนเองปกครอง แต่ยอมรับในอำนาจของกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยเป็นเพียงเจ้าคุ้มครอง โดยหัวเมืองเหล่านี้จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และส่งทหารมาช่วยรบเมื่อทางกรุงสุโขทัยมีคำสั่งไปร้องขอ
อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจ โดยบรรดาหัวเมืองประเทศราชต่างๆ เริ่มแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองเผ่าไทยทางใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ได้แผ่อำนาจเข้ามามีอิทธิพลเหนือกรุงสุโขทัย ในที่สุด อาณาจักรไทยยุคสุโขทัยก็ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา


แบบทดสอบหลังเรียน http://quickr.me/xE8fAYS

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น